วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

8 . อาหารเมืองเมดาน


 อาหารการกิน (Indonesian Food) 



                อาหารอินโดนีเซียพื้นบ้านส่วนใหญ่จะเป็นข้าวกับแกง รสจัดถูกปากคนไทย แต่จะไม่ค่อยเผ็ดนัก รสชาติจะอ่อนกว่า แต่ความมันของแกงกะทินั้นจะมันมากกว่าแกงไทย อาหารประเภทข้าวราดแกงนั้นสามารถหารับประทานได้ทั่วไป โดยให้สังเกตร้านที่มีตู้กับข้าวโชว์ด้านหน้าพร้อมกับถ้วยชามที่คว่ำอยู่หน้าร้าน แกงส่วนใหญ่จะเป็นแกงกะทิคล้ายแกงกะหรี่กับแกงมัสมั่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารฮาลาล เนื้อที่นำมาปรุงอาหารจำพวกแกงจะมีทั้ง เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อไก่ กุ้งและปลา  นอกจากนี้ยังมีอาหารกลุ่มทอดและปิ้ง,ย่าง โดยมากจะเป็นไก่และปลา แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในสำรับข้าวแกงนั่นคือ น้ำพริก น้ำพริกอินโดนีเซียจะทานกับผักแนมหลากหลายชนิด บางครั้งก็ทานกับปลาทอด ซึ่งรสชาติของน้ำพริกจะออกเผ็ดและเค็มเปรี้ยว แต่ไม่ถูกปากชาวไทยนัก ก็เพราะเขาจะเอาน้ำพริกไปผัดกับน้ำมันจนมันเยิ้มนั่นเอง

สำรับอาหารอินโดนีเซียจะเป็นข้าวทานกับแกงและน้ำพริกคล้ายกับอาหารไทย ส่วนมากจะเป็นร้านมุสลิม ลักษณะกึ่งๆบุบเฟต์ คือเค้าจะตักกับข้าวเป็นถ้วยมาให้เราเยอะไปหมด เราจะทานอันไหนก็เลือกไว้ที่เหลือคืนเค้าไป

            อาหารทานเล่นของชาวอินโดนีเซีย มีมากมายหลายหลายชนิด ทั้งสลัดแขก กล้วยแขกทอด แต่อาหารที่ขึ้นชื่อมากๆ คือ  สะเต๊ะ ( Sate ) ซึ่งมีให้เลือกทั้งเนื้อสะเต๊ะ ( Sate Sapi )  และไก่สะเต๊ะ ( Sate Ayam )  สะเต๊ะที่นี่อร่อยไม่แพ้ที่มาเลเซีย  แต่น้ำจิ้มที่ใช้จะเป็นน้ำเกรวี่ข้นๆ หวานๆ และรับประทานควบคู่กับมันเทศต้ม ซึ่งบ้านเราจะทานคู่กันกับขนมปังปิ้ง

      

                   



อาหารส่วนใหญ่ที่เป็นอาหารจานเดียว มักจะมีข้าวเกรียบเสริฟเป็นเครื่องเคียงเสมอ อาหารจานเดียวของอินโดนีเซียที่ขึ้นชื่อที่สุดคงหนีไม่พ้น ข้าวผัดและหมี่ผัดสไตล์อินโดนีเซีย ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะเป็นภาษาอินโดนีเซียคือ ข้าวผัด เรียกว่า “ นาสิ โกเร็ง ” ( Nasi Goreng )  และหมี่ผัดเขาเรียกว่า “ หมี่ โกเร็ง ” ( Mee Goreng )  ส่วนใหญ่ทั้งสองเมนูเค้าจะผัดใส่ไข่และใส่เนื้อไก่ค่อนข้างมัน   รับประทานควบคู่กับข้าวเกรียบพื้นบ้าน  ส่วนก๋วยเตี๋ยวไก่ ( Soto Ayam ) หรือก๋วยเตี๋ยวเนื้อสำหรับท่านที่ถูกปากกับอาหารจีน ในเมืองเมดานจะมีหมี่ฮกเกียน ( Mie Hok Kien )  ซึ่งมีทั้งแบบน้ำและแบบแห้งใส่เนื้อหมูและอาหารทะเลจำพวกกุ้งและเนื้อปู  ( คล้ายๆ กับที่มาเลเซีย )




ในเมืองเมดานนี้ก็มีอาหารฟาสต์ฟู้ดให้บริการ มีทั้ง KFC , Pizza Hut , Mc Donald แต่รสชาติจะดัดแปลงให้สอดคล้องกับคนอินโดนีเซีย คือเนื้อไก่จะไม่ฟูแป้งที่ใช้ทอดไม่หนา และฟาสต์ฟู้ดไก่ทอดแบรนด์พื้นบ้านมี CFC ซึ่งลอกเลียนแบบมาจาก KFC เต็มๆ ( แต่ที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย ในร้าน KFC ที่นี่และที่มาเลเซีย จะมีขวดน้ำจิ้มไก่แบบหวาน เหมือนน้ำจิ้มไก่แม่ประนอมตั้งอยู่บนโต๊ะให้ด้วย   คงถูกปากบ้านเขามากกว่าซอสมะเขือเทศและซอสพริกแบบธรรมดา  แต่ KFC ในไทย คงจะรักษามาตราฐานไว้ เลยไม่มีน้ำจิ้มไก่ให้ ) นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ขนมหวานยอดนิยมในอินโดฯ. ต่างๆ อาทิ  Roti Boy , J Co Donut , Yakhunkaya Toast เป็นต้น

      



 ย่านแหล่งอาหารการกิน 

                ในเมืองเมดานมีย่านร้านอาหารให้เลือกรับประทานมากมายเป็นย่านๆ ทั้งย่านไชน่าทาวน์ที่ขายอาหารจีน ย่าน Selat Panjang & Semarang ขายอาหารพื้นเมืองสไตล์เมดาน ย่าน Merdeka Walk สร้างลักษณะพลาซ่ามอลล์ขนาดใหญ่ เป็นถนนสายอาหาร  เป็นแหล่งศูนย์รวมอาหารนานาชาติ มีทั้งฟาสต์ฟู้ด อาหารจีน ญี่ปุ่น และอาหารพื้นเมือง เป็นสถานที่ Hang out สำหรับคนรุ่นใหม่ในยามค่ำคืนของเมืองเมดาน และแบบ Padang Food คือไปยืนสั่งที่หน้าร้าน แล้วเขาจะมาเสริฟ์ให้ที่โต๊ะ ซึ่งมีภัตตาคาร Garuda , Restoran ACC , Simpang Tiga   ร้านอาหารที่นี่คล้ายกับบ้านเราคือสามารถซี้อหาได้ ตลอด 24 ชม.

        



ขอจบ  Indonesia journey เท่านี้ก่อนนะครับ ....ขอขอบคุณที่กรุณาติดตามจนจบทริปครับผม ...



อ่านต่อ "  1. รู้จักกับประเทศออสเตรเลีย " ครับ...
http://anutjack4.blogspot.com/2014/07/1.html

7 . Indonesian 4 x 4



 Sumatra Offroad 

       กล่าวได้ว่าเกาะสุมาตราเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีชื่อเสียงในด้านการเดินทางผจญภัยโดยใช้รถยนต์ประเภท 4x4 ในสภาพแบบ Rain forest ( ป่าฝนเขตร้อนเส้นศูนย์สูตร หรือป่าดิบชื้น มีฝนตกชุก เป็นป่ารกทึบเขียวชอุ่มตลอดปี ต้นไม้ทุกชนิดไม่มีการผลัดใบ เช่น ยางตะเคียน กระบาก เคี่ยม หวาย ไผ่ และเถาวัลย์ชนิดต่างๆ ) ซึ่งในกลุ่มนี้ก็จะมีในประเทศมาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย สำหรับอินโดนีเซียการใช้รถประเภท  4x4 จะเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ที่ถนนตัดผ่านพื้นที่ป่า ภูเขา และแม่น้ำ บางเส้นทางไม่ได้มีการราดยาง หรือราดยางแล้วแต่หลังจากฤดูฝน ถนนก็จะเสียหาย รถธรรมดาไม่สามารถสัญจรได้ตามปกติ ผู้ใช้รถที่นี่จึงมักจะมีการฝึกทักษะ และเทคนิคการใช้รถประเภทนี้ และมีการแข่งขัน offroad ระดับท้องถิ่น รวมถึงระดับชาติในทุกๆ ปี 


                  

ก่อนเดินทางกลับแวะเดินเที่ยว Medan ...

 Masjid Raya 
Masjid Raya Al-Mashun เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในเขตสุมาตราเหนือ สร้างขึ้นโดยท่านสุลต่าน เดลี (Deli Sultan) ในปี ค.ศ. 1906 สถาปัตยกรรมเป็นแบบแขกมัวร์ กระเบื้องและของประดับตกแต่งมัสยิดทั้งหมดนำเข้าจากประเทศอิตาลี ปัจจุบันยังคงใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจเป็นประจำ

 Museum of North Sumatra 

          พิพิธภัณฑ์แห่งสุมาตราเหนือ เป็นที่จัดแสดงอารายธรรมของมนุษย์บนเกาะสุมาตราตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ยันยุคปัจจุบัน ดังนั้นในแต่ละห้องจึงมีการแสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องมือต่างๆ และงานฝีมือท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 ( และ ยังมีห้องจัดแสดงวัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะ )



          พิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นคลังความรู้ให้กับผู้คนทุกเพศทุกวัย ซึ่งพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งนั้นก็มีแนวทางในการนำเสนอที่แตกต่างกัน แต่สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว “ Live Museum ” หรือพิพิธภัณฑ์มีชีวิตนั้นน่าสนใจเป็นที่สุด…….

 Tjong A Fie Mansion 


          เป็นคฤหาสน์โบราณสไตล์จีน สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1900 อยู่บนถนน Jend Ahmad Yani  คล้ายกับที่เมืองปีนังและภูเก็ต เจ้าของคฤหาสน์เป็นมหาเศรษฐีคนแรกแห่งเกาะสุมาตราที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ชื่อ Tjong A Fie เกิดในปี ค.ศ. 1860 ในหมู่บ้าน Sung Kow รัฐกวางตุ้ง ประเทศจีน ต่อมาได้ย้ายเข้ามาทำการค้าเป็นร้านขายของชำในเมืองเบลาวัน ในปีค.ศ. 1877 จนกิจการขยายใหญ่โตรุ่งเรือง ภายใต้การปกครองของท่านสุลต่านเดลีแห่งเกาะสุมาตรา ต่อมารัฐบาลของฮอลแลนด์ได้มอบหมายให้ร่วมรัฐบาล ซึ่งบทบาทหน้าที่ของท่านเจ้าสัวคือ การดูแลชุมชนชาวจีนบนเกาะสุมาตรา  Tjong A Fie เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1921

          Tjong A Fie Mansion มีทั้งหมด 35ห้อง จัดแบ่งเป็นห้องนอน ห้องแต่งตัว ห้องแสดงภาพถ่ายของตระกูลตั้งแต่อดีตไล่มาจนถึงปัจจุบัน ด้านล่างเป็นห้องรับแขก ห้องเปียโน ห้องทานอาหาร ห้องครัว บ้านแบบสไตล์ชิโนโปรตุกีสนั้นตรงกลางบ้านมักจะเปิดหลังคาโล่งและมีสวนอยู่ตรงกลางบ้านเสมอ กระเบื้องปูพื้นของแต่ละห้องจะใช้กระเบื้องนำเข้าอย่างดีจากประเทศอิตาลี  การออกแบบบานพับหน้าต่างก็คล้ายกับเรือนปั้นหยาทางภาคใต้ของบ้านเรา โดยเฉพาะการตกแต่งเพดานห้องนั้นงดงามมาก ประดับด้วยโคมไฟระย้านำเข้าจากอิตาลี   

 MILLENIUM PLAZA MEDAN 

แวะทานข้าวที่ห้าง ก่อนเดินทางกลับ ....

อ่านต่อ " 8.อาหารเมืองเมดาน " ครับ ...
http://anutjack3.blogspot.com/2014/03/8.html



6 . อุรัง อุตัง ที่ บูกิตราวัง


 Orang Utang 



          เดินทางไปดู อุรัง อุตัง ที่บูกิตราวัง “ Bukit Lawang “ โดยขับรถจากเมดานประมาณ 3 ชั่งโมง “ อุรังอุตัง “ เป็นภาษา Bahasa มาจากคำว่า Orang ที่แปลว่าคน  กับ Utang ที่แปลว่าป่า Orang + utang  คือ” คนป่า “  เดิมทีในสมัยโบราณคนพื้นเมืองได้บุกเบิกเข้ามาในป่าและพบ ลิงอุรังอุตัง ก็                                                                             เลยประมาณว่าเป็นคนละเผ่ากับพวกเขา





















          บริเวณโดยรอบๆของบูกิตลาวังคือแม่น้ำโบโฮโรค หรือ Sungai Bohorok  การข้ามไปฝั่งอุทยานแห่งชาติจะต้องใช้เรือพายชักรอกไปเพื่อป้องกันอุรัง อุตังข้ามฝั่งมาอีกด้านของแม่น้ำ





   
          อุรัง อุตังที่ Bukit Lawang  ไม่เชิงเป็นสัตว์ป่าเสียที่เดียวคล้ายๆจะกึ่งสัตว์ป่ากึ่งสัตว์เลี้ยง เนื่องจากอุรังอุตังที่นี่จะเป็นส่วนที่ปล่อยออกจากศูนย์ฟื้นฟูอุรัง อุตัง ซึ่งจะต้องมีขบวนการค่อยๆเป็นค่อยไปเพื่อคืนสู่ป่าโดยหากตัวใดที่นำมาจากป่าแล้วสามารถปรับตัวอยู่ร่วมสังคมกับตัวอื่น ๆ ก็จะปล่อยเป็นอิสระในบริเวณป่าที่จัดเตรียมไว้ แต่สำหรับตัวใดที่นำมาแล้วไม่สามารถอยู่ร่วมสังคมกับตัวอื่น ๆ ได้หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไล่กัดตัวอื่น ก็จะถูกขังไว้ในกรงไม้ โดนมีเจ้าหน้าที่ดูแลทำการฝึกพฤติกรรมสักระยะหนึ่ง แล้วจึงทดลองปล่อยเข้าเขตศูนย์ฟื้นฟูอุรัง อุตัง อีกครั้ง แต่ถ้าจะดูแบบที่เป็นอุรัง อุตังแบบที่คืนสู่ป่าแบบสมบูรณ์ต้องเดินป่าเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ Gunung Leuser  อยู่ทางตอนใต้ของ  Aceh โดยใช้เวลาเดินป่าประมาณ 4 -7 วัน


รูปนี้ช่างภาพอินโดฯ ที่บูกิต ราวัง ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
แบบว่าไม่ใช้โฟโต้ช๊อป ใช้ฟิล์มตัดแปะกันเลย ณ.ตอนนั้น
 


ตอนนี้มีลิงอุรังอุตังเหลืออยู่ในโลกไม่ถึง 7,500 ตัวและพวกมันก็มีอัตราการลดลงประมาณ 1,000 ตัวต่อปี กล่าวโดยอดัม โทมาเสก ( Adam Tomasek ) ผู้อำนวยการโครงการในเกาะบอเนียวและสุมาตราของกองทุนสัตว์ป่าโลก ( the World Wild Fund, WWF )  ในอัตรานี้ พวกมันจะสูญพันธุ์ภายใน 10 ปีข้างหน้า สาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนประชาการของพวกมันลดลงคือการล่าสัตว์เพื่อการค้า และการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจากการตัดไม้ ไฟป่า และกิจกรรมของมนุษย์อื่นๆ

           

นอกจากเป็นสถานที่อนุรักษ์ และศูนย์ฟื้นฟู อุรังอุตังแล้ว Bukit Lawang ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมสำหรับการพักผ่อนริมแม่น้ำ การล่องแพ  , พายเรือคายัคและการเดินป่าในป่าอุทยานแห่งชาติ Gunung Leuser 

 

                    

อ่านต่อ " 7.Indonesian 4 x 4 " ครับ...






5 . สุสาน King of Sidabutar



 Tomb of King Sidabutar 



          สุสาน  King Sidabutar  ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Tomok เป็นสุสานแห่งตระกูลราชาจอมขมังเวทย์ ที่กล่าวกันว่า Oppu Ratu Sidabutar มีเวทย์มนต์ สามารถเรียกลมเรียกฝนได้ มีคาถาแกร่งกล้า เป็นที่ยำเกรงของชาวเผ่าบาตักทั้งหมด โดยร่างของท่านได้เก็บรักษาไว้ในโลงพระศพหิน ซึ่งเป็นอันที่มีการแกะสลักรูปพระพักตร์ของพระองค์

          ในสุสานมีโลงศพหินเรียงรายตั้งอยู่หลายขนาด แต่โลงที่สำคัญคือโลงพระศพของกษัตริย์สามองค์ คือ 1. Oppu Ratu Sidabutar ราชาจอมขมังเวทย์ 2. Oppu Solompuan Sidabutar องค์ที่สองนี้มีคู่หมั้นที่งดงามเป็นที่หมายปองของผู้นำชนเผ่าอื่นชื่อ อันติงมาไลลา (Anting Malela By Sinaga) คงเพราะความงามเป็นเหตุทำให้ถูกเวทย์มนต์จนเป็นบ้า หนีหายเข้าป่าไปตามหาไม่เจอ เมื่อกษัตริย์องค์ที่สองสิ้น จึงแกะสลักหินรูปนางไว้บนฝาโลงพระศพ โลงพระศพของกษัตริย์องค์ที่สองนี้มักจะมีผู้คนไปอธิษฐานขอพรอยู่เสมอ ส่วนวิธีอธิษฐานนั้นก็ให้กระซิบริมพระกรรณของโลงพระศพ และ 3.  Ompu Sor: Buntu Sidabutar เป็นกษัตริย์ที่เปลี่ยนการนับถือภูต ผี มานับถือศาสนาคริสต์


                     

          สำหรับโลงหินและรูปหินแกะสลักที่เรียงรายข้างๆ นั้น ก็ล้วนแต่เป็นผู้รับใช้ , บอดี้การ์ด, และผู้หญิงที่ท่านรัก


        ตามหลักฐานมีการศึกษาว่าชาวบาตักนั้นมาจากที่ไหนมีการศึกษาโดย Mr. Achim Sibeth ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ Batak Sculpture  สันนิษฐานว่าชาวบาตักมีสืบเชื้อสายมาจากคน Austronesians และหรือที่รู้จักว่ากลุ่มชาว Proto-Malay ( the first Malays ) หรือที่เรียกว่าคน Mongoloid เข้ามาอาศัยในพื้นที่เมื่อประมาณ 6000 ปีที่แล้ว ซึ่งอพยพย้ายถิ่นมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนก็คือ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน

  
รูปแกะสลักไม้และหินของชาวบาตัก ขึ้นชื่อมาก ส่วนใหญ่ก็จะแกะสลักเป็นรูปคน หรือรูปหน้าของเทพเจ้า  แต่ก่อนวัสดุมุงหลังคาจะเป็นหญ้าแห้งมัดเป็นตับ แต่ปัจจุบันใช้สังกะสี


 Stone Chairs , Samosir Island 

         หมู่บ้านอัมบาริต้า ( Ambarita ) ห่างจากหมู่บ้านตุ๊กๆ ( Tuk Tuk ) ประมาณ 5 กม.นี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า  “ Stone Chair of King Siallagan ” ภายในจะมีทั้งบ้านกษัตริย์โบราณ ลานประชุม ลานพิพากษา และลานประหาร ซึ่งลานต่างๆจะทำมาจากหินภูเขาไฟ ลานพิพากษาจะมีชื่อเรียกว่า “ Siallagan Ambarita ”
          ทางเข้าหมู่บ้านมีรูปสลักเป็นคนหน้าตาน่ากลัว ภายในจะมีบ้านโบราณสไตล์บาตักปลูกเรียงกันเป็นแถวๆหลายหลัง    บ้านทุกหลังจะมีบันไดทางขึ้นตรงกลาง ชั้นใต้ถุนจะไว้เลี้ยงสัตว์และเก็บพืชผลทางการเกษตร ก่อนขึ้นบ้านทุกคนจะต้องกล่าวคำว่า “ Horas ” อ่านว่า “ โฮร่า ” จะต้องเปล่งเสียงคำนี้ดังๆ 3 ครั้ง เพื่อทำความเคารพ บ้านหลังใดมีภรรยามาก สังเกตได้จากจำนวนเต้านมที่แกะสลักจากไม้ที่อยู่หน้าบ้าน หากมีมากจะแสดงถึงฐานะที่มั่งคั่ง  ( บ้านบางหลังมีเมียถึง 12 คน ลูกเป็นร้อย  บ้านใดมีลูกมากก็ยิ่งดี เพราะจะได้มีแรงงานไว้ใช้ในการเกษตร  ไม่ต้องจ้างผู้อื่น  )

           สมัยก่อนบนเกาะเองก็มีการรบพุ่งกันระหว่างเผ่าอยู่เนืองๆ ดังนั้น จึงมีเชลยศึกหรือบรรดานักโทษถูกนำตัวมาให้เป็นอาหารอันโอชะอยู่เสมอ

     

ลานพิพากษา ( Ambarita )  ซึ่งทำมาจากหินศิลาล้วนๆ อายุมากกว่า 300 ปี ลักษณะเป็นโต๊ะกลมตั้งอยู่ใต้ต้นไทร เก้าอี้มีตะไคร่จับจนเขียวครึ้ม บริเวณนี้กษัตริย์จะถือไม้เท้าอาญาสิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ และจะใช้เป็นที่ตัดสินคดีความต่างๆของบ้านเมือง ติดกับลานพิพากษามีคุกไว้จองจำผู้กระทำผิด แต่ถ้าโทษมากถัดจากลานพิพากษาไปอีกหน่อยจะเป็นลานประหาร

แท่งหินสำหรับทรมานนักโทษอยู่ด้านบนซ้าย โต๊ะหินกลมตรงกลาง
สำหรับวางเครื่องมือประหารและิอวัยวะของนักโทษ และแท่งหิน
สำหรับตัดคอนักโทษอยู่มุมบนขวา
สาธิตวิธีผ่าท้องเอาอวัยวะภายใน






สาธิตวิธีตัดคอนักโทษ







       



หากโทษสั่งประหาร จะเริ่มตั้งแต่นำนักโทษประหารจับมานุ่งโสร่งสั้นผืนเดียว พร้อมทั้งปิดตา แล้วนอนบนลานทรมาน จากนั้นเพชรฆาตก็จะค่อยๆนำมีดมาเฉือนมือและเท้าของนักโทษทิ้ง เพื่อดูดพลังชีวิตให้ออกจากร่างกายไป  และกรีดผ่าเอาอวัยวะภายในออกมากองไว้บนโต๊ะวงกลมตรงกลาง หรือการประหารอีกแบบคือ นำนักโทษไปเอาคอพาดแท่งหินแล้วใช้เพชฌฆาตฟันคอขาด  หลังจากนั้นเพชรฆาตจะนำหัวใจและเลือดไปให้กษัตริย์ ซึ่งจะกินหัวใจสดๆ และดื่มเลือดของผู้วายชนม์แล้วจึงนำเนื้อและชิ้นส่วนอวัยวะอื่นๆ มาประกอบอาหารและแจกจ่ายให้ทานกันทั้งหมู่บ้าน ส่วนหัวนักโทษที่ถูกตัดจะนำไปแช่น้ำที่ทะเลสาบ 7 วัน โดยช่วงนี้คนในเผ่าจะถูกห้ามนำน้ำในทะเลสาบมาบริโภค

 

โต๊ะหินที่ใช้ในการกินมนุษย์จะมีทั้งหมด 2 ชุด คนที่นั่งรับประทานที่โต๊ะ ก็จะเป็นกษัตริย์ และคนสำคัญๆ ในเผ่า โดยรอบๆจะเป็นลานดิน และก้อนหินก้อนใหญ่ที่อยู่ด้านข้างจะเอาไว้วางชิ้นเนื้อและชิ้นส่วนอื่นๆ เพื่อใช้เตรียมประกอบอาหารแจกจ่ายให้กับคนทั้งหมู่บ้าน

Stone Chairs มีอายุราว 300 ปี ประมาณเอาว่าก็น่าจะเทียบได้ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา

          ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าชาวบาตักจะนับถือศาสนาคริสตร์ แต่ก็ยังคงมีความเชื่อเรื่องภูตผี ปีศาจ เวทย์มนต์ หลุมฝังศพชาวบาตักจะสร้างคล้ายแบบบ้าน และแสดงความหมายถึงฐานะทางครอบครัว

 

เดินทางกลับเข้าเมือง Tebing tinggi




รถบริการสาธารณะที่นี่จะมีลักษณะเหมือนสามล้อถีบ
และมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างที่ให้บริการทั่วไป
                    Tebing tinggi  เป็นเมืองในภาคเหนือของเกาะสุมาตราระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตรจากเมืองเมดาน มีประชากรประมาณ 175,000 คน  มีแม่น้ำสายเล็กสี่สายไหลจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก คือ แม่น้ำ Padang , แม่น้ำ Bahilang , แม่น้ำ Kalembah และ แม่น้ำ Sibaran ในอดีตคนจีนอพยพมาและจับจองพื้นที่อาศัยบริเวณปากแม่น้ำ Bahilang และในปัจจุบันเข้ามาทำการค้าขายในเมือง จุดเด่นของร้านหรือบ้านที่เป็นตึกแถวของคนจีนที่นี่คือชั้นที่ 3 หรือ 4 จะปล่อยว่างให้นกนางแอ่นเข้ามาอาศัยเพื่อเก็บรังนกนางแอ่นขาย ( ทุก ๆวันประมาณ 5 โมงเย็น จะเห็นนกนางแอ่นบินกลับเข้ารังเป็นฝูง ๆ หลายแสนตัว ส่งเสียงร้องระงมกันทั่วทั้งเมือง ส่วนบริเวณรอบ ๆ ชานเมืองจะเป็นที่พักอาศัยของคนมุสลิม ซึ่งจะประกอบอาชีพทำสวน เงาะ , ส้ม , ละมุด , ทุเรียน , ปาล์ม เป็นส่วนใหญ่

สายน้ำที่ไหลลงมาเป็นน้ำตกและสวนปาล์มระหว่างทาง


     
   


          การจลาจลปฏิรูปประเทศอินโดนีเซียในเดือนพฤษภาคม 1998 , เมืองเทบิงทิงกี้ อยู่ในเขตจากการจลาจลต่อต้านเชื้อชาติจีนด้วยเช่นกัน โดยเกิดจากชุมชนชาวมุสลิมที่ประสพปํญหาทางเศรษฐกิจของประเทศเพราะราคาสินค้าทะยานพุ่งสูงขึ้นมาก จนทำให้มีการรวมตัวกันและทำการปล้นร้านค้าที่ชาวจีนเป็นเจ้าของ  ร้านค้าบนถนนต่าง ๆ ในตัวเมือง  รวมถึงโรงสี , โรงเกษตรที่เจ้าของเป็นคนเชื้อชาติจีนก็ถูกปล้นสะดมเอาผลผลิตไปแจกจ่ายกันในกลุ่ม ส่งผลกระทบต่อร้านค้าทั้งหมดปิดตัวลงทั่วเมือง ซึ่งในช่วง 2 ปีแรกชาวจีนน้อยรายที่จะกลับมาลงทุนเปิดร้านค้าอีก เพราะถูกปล้นสะดมหมดเนื้อหมดตัว คงเหลือเพียงร้านที่เป็นห้องว่างเปล่าทิ้งไว้ และหลังจากเหตุการณ์นั้นในช่วงสามปีหลัง ก็ยังไม่มีใครกล้าเปิดร้านค้าของพวกเขาในเวลากลางคืน  ( แม้กระทั่งขณะในช่วงที่ผมพักอยู่ที่นั่นประมาณ 4 โมงเย็นคนจีนก็เริ่มปิดร้านกลับบ้านพัก จากเมืองที่มีชีวิตเต็มไปด้วยสีสรร คนเดินทางทำมาค้าขายพลุกพล่าน  ก็เริ่มเงียบสงบลง  ตึกรามบ้านช่องของคนจีนส่วนใหญ่จะสร้างเป็นลักษณะตึกแถวแต่ภายในอาจจะกว้างถึง 3 คูหา จะมีประตูเหล็ก 3 ชั้น เป็นแผ่นเหล็กหนาด้านนอกสุด ถัดมาเป็นประตูเหล็กตะแกรงบานพับ และชั้นสุดท้ายจะประตูเหล็กทึบแผ่นบานพับ )

 

          เมืองเทบิง ทิงกี้ เคยเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่มีจำนวนโรงภาพยนตร์มากมาย  แต่หลังจากการจลาจลปี 1988 จำนวนผู้คนที่ดูภาพยนต์ลดลง โดยเฉพาะรอบค่ำ และนักธุรกิจทางด้านการบันเทิงที่มีชื่อเสียงของที่นี่เสียชีวิตลง ประกอบกับการละเมิดลิขสิทธิ์ VCD , DVD มีจำนวนมากขึ้นทำให้โรงภาพยนต์ต่าง ๆ ปิดตัวลง แม้แต่โรงละคร ที่มีชื่อเสียง “ Deli “ ยังถูกแปรสภาพอาคารกลายเป็นรังนกนางแอ่นในปัจจุบัน

          กลุ่มเพื่อนคนอินโดฯ-จีน ของผมที่นี่หลังจาก 5 โมงเย็นทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะนัดแนะรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นไปพักผ่อน ดูหนัง ร้องเพลงคาราโอเกะ หมุนเวียนกันตามบ้่านสมาชิกในกลุ่มกันแต่ละหลัง  ( ในบ้านของชาวจีนฯ-อินโดที่นี่จะมีเครื่องอำนวยความบันเิิทิงในบ้านครบครัน หรือถ้าเป็นกลุ่มชายล้วนก็จะนัดเดินทางเที่ยวเล่นกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่มักจะกลับเข้าบ้านไม่เกิน 3 ทุ่ม ( โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี และเด็ก จะถูกห้ามไม่ให้ออกนอกบ้านช่วงหลัง 5 โมงเย็น หากเดินทางไปเที่ยว หรือพักผ่อนในสถานที่อื่นนอกเขตเมือง ก็มักจะร่วมเดินทางไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ ) ทั้งหมดจะมีการร่วมกิจกรรมกับคนอินโดฯ-จีนกลุ่มอื่นๆเป็นประจำ ทำให้สังคมของคนจีนฯ-อินโด ค่องข้างจะกว้างขวางและรู้จักกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ในสังคม มักไม่ค่อยจะสนิทสนมกับกลุ่มชาวอินโดฯ-มุสลิม อาจเป็นเพราะยังคงจำฝังใจกับการจลาจลในปี 1998 และมีข่าวการก่ออาชญากรรมต่อคนอินโดฯ เชื้อสายจีนอยู่บ้าง

          ระหว่างที่พักอาศัยอยู่ที่เมืองนี้ อาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าประทับใจ รสชาดอาจจะคล้ายกับอาหารมาเลเซีย โดยเฉพาะอาหารจีน จะแตกต่างกันที่วัตถุดิบที่ใช้ปรุง แต่สำหรับอาหารชาวมุสสลิมที่นี่จะแตกต่างกับที่มาเลเซียค่อนข้างชัดเจน คนพื้นเมืองที่นี่ชอบอาหารรสจัด และเผ็ดร้อนเหมือนกับบ้านเราอยู่มาก ขอแนะนำสักหน่อยก่อนถึงบทความอาหารอินโดนีเซีย ( เรียกน้ำย่อยพอเป็นออเดิฟก่อนครับ ... )

 Saksang or Sa-sang 

           เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวบาตัก ทำจากเนื้อหมูหรือเนื้อวัว ( บางร้านอาจจะมีเนื้อควายด้วย ) นำมาย่างแล้วนำชิ้นเนื้อแขวนไว้ ในตู้กระจกหน้าร้าน หากมีลูกค้าสั่ง ก็จะนำมาหั่นเป็นชิ้นและนำไปรวนกับเลือดวัวหรือเลือดควายพอสุก ( บางทียกมาเสริฟเลือดในจานยังแดงแจ๋อย่างกับลาบเลือด ) ทานร่วมกับน้ำจิ้มรสเผ็ด กับข้าวสวย และเสริฟพร้อมกับน้ำซุปต้มกระดูก เป็นอาหารจานโปรดของผมระหว่างที่พักอยู่ที่นั่น








 Lemang 

          เป็นอาหารพื้นเมืองที่ทำจาก ข้าวเหนียว , กะทิ และเกลือและปรุงสุกในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งรองรอบภายในกระบอกด้วยใบตองป้องกันไม่ให้ข้าวเหนียวจับตัวกับไม้ไผ่  ( กรรมวิธีทำคล้ายกับข้าวหลาม ) แล้วนำตัดออกเป็นแว่น ๆ รับประทานร่วมกับอาหารประเภทเนื้อ เช่นเนื้อย่าง , สเต๊ะ หรือแกงเผ็ด เช่น แกงไก่ รสชาดของข้าวค่อนข้างมัน แต่ไม่หวานเหมือนกับข้าวหลามบ้านเรา และเป็นอาหารประจำสำรับในการฉลองวันสิ้นสุดการถือศีลอดของชาวอินโดฯ-มุสลิมที่นี่













 Kopi 



          เป็นชื่อเรียกกาแฟ ของชาวอินโดฯ วิธีการทำยังเป็นแบบโบราณ ( น่าจะเป็นกาแฟโบราณขนานแท้กว่าที่พบเห็นในบ้านเรา ) คือเขาจะเอากาแฟแบบบดเป็นผงโอเลี้ยงไปชงน้ำร้อน ใส่น้ำตาล ไม่มีการกรองกากของกาแฟ รอให้กากของกาแฟตกตะกอนสักพัก แล้วจึงค่อยรินใส่แก้ว ซึ่งก็แตกต่างจากการทานกาแฟธรรมดาทั่วไป ในระหว่างดื่มลิ้นจะสัมผัสได้ว่ามีส่วนละอองของผงกาแฟลอยตัวอยู่ในน้ำกาแฟด้วย มีกลิ่นหอมของเนื้อกาแฟแบบดิบ ๆ เหมือนกาแฟดำ  และอินโดนีเซียยังขึ้นชื่อเรื่องกาแฟคุณภาพดีระดับโลก โดยเฉพาะ “ กาแฟมูลชะมด “ อีกด้วย  การทานกาแฟที่นี่มักจะทานโรตีร่วมด้วย รวมถึงขนมทานเล่นพื้นเมืองหลากหลายโดยไม่จำกัดประเภท และชนิด ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปกติ

 Indonesian tobacco 



                         






   
ขอกล่าวถึงยาสูบสัญชาติของอินโด ฯ สักหน่อย บุหรี่และซิการ์อินโดนีเซียมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในระดับโลกไม่แพ้รสชาดของกาแฟอินโดนีเซีย โดยตลาดยาสูบอิโดนีเซียใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีใบยาสูบเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ  บุหรี่และซิการ์ที่นี่จึงมีราคาถูก และมีมากมายหลากหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ดังระดับโลกหรือระดับท้องถิ่น  ( ขณะที่ผมพักอยู่ที่นั่น บุหรี่อเมริกันยอดนิยม Marlboro มีราคาเงินรูเปียแปลงเป็นเงินไทยประมาณซองละ 20 บาท )  การสูบบุหรี่ของชนชาวอินโดฯ.ในที่สารธารณะถือเป็นเรื่องปกติ แม้กระทั่งในรถโดยสาร ร้านอาหาร และทุก ๆ ที่ สามารถพบเห็นผู้สูบบุหรี่ได้ทั่วไป ซึ่งถือว่ากรสูบบุหรี่เป็นวัฒนธรรมอันฝังแน่นกับชนชาวอินโดนีเซีย


       บุหรี่อินโดนีเซียมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเช่นกัน เริ่มต้นในศตวรรตที่ 19 บุหรี่ในยุคแรกเริ่มใช้เปลือกข้าวโพดแห้งนำมาห่อกับใบยาสูบซึ่งให้มีกลิ่นคล้ายน้ำผึ้ง ต่อมาจึงมีการพัฒนาโดยนำใบกานพลูมาผสมกับใบยาสูบในบุหรี่ทำให้มีกลิ่นหอมและเผาไหม้ช้า  ซึ่งก็เป็นที่นิยมของชนพื้นเมือง โดยกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบุหรี่อินโดนีเซียเป็นรู้จักของชาวต่างชาติเป็นอย่างดี  ( บุหรี่สัญชาติอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงในระดับโลก เช่น Gudang Garam , Sampoerna , Djarum และ Bentoel )

       
 
 น้ำผลไม้ปั่น 


          จากการที่ภูเขาไฟทั้งที่สงบและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันหลายลูก  เถ้าจากภูเขาไฟซึ่งจากการระเบิดที่ตกลงมาทับถมกันในอดีต ทำให้หน้าดินของเกาะสุมาตรามีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผักผลไม้ต่าง ๆ ดังเช่นพื้นที่เมืองแห่งผลไม้ “ บราสตากี้ “ ดังที่ได้กล่าวมา ผลไม้ตามฤดูกาลของที่นี่จึงมีหลากหลาย เนื้อแน่นรสจัด มีคุณภาพสูง จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการทำเป็นน้ำผลไม้

          น้ำผลไม้ปั่นที่นี่ผมถือเป็นสุดยอดแห่งหนึ่งที่ผมได้ทาน โดยเขาจะนำผลไม้ที่เราต้องการ เช่น สัปรด แตงโม ส้ม กล้วย  สละ มะม่วงหรืออะโวคาโด ประมาณ 3 /4 ของโถปั่นน้ำผลไม้ แล้วนำลงใส่เครื่องปั่น และใส่น้าแข็ง + น้ำเชื่อมเพียงเล็กน้อยลงไปปั่น น้ำผลไม้ที่ได้จึงมีลักษณะข้นเกือบจะเป็นครีมเหลว ๆ เย็นพอประมาณ ซึ่งจะได้รับรสชาดของผลไม้อย่างเต็มเปี่ยม เครื่องดื่มเมนูโปรดที่ได้รับความนิยมมากคือ “ น้ำอะโวคาโดปั่น ” ซึ่งจะผสมน้ำช๊อคโกแลตข้นและบางที่อาจจะมีวิปครีมเพิ่มด้านบนด้วย อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อุดมไปด้วยไขมันชนิดดี , วิตามินซี , วิตามินอี , โพแทสเซียม และเหล็ก ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดควาเสี่ยงของโรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหัวใจวายอีกด้วย



อ่านต่อ " 6.อุรัง อุตัง ที่ บูกิตราวัง" ครับ...
http://anutjack3.blogspot.com/2014/03/6.html