วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

4 . ทะเลสาบโทบา อภิมหายักษ์ที่หลับแล้ว




 โทบา ( Lake Toba ) ที่สุุุดแห่งทะเลสาบ บนปากปล่องภูเขาไฟ 

          ทะเลสาบโทบา ( LakeToba ) หรือที่คนอินโดนีเซียเรียกว่า “ดาเนา โตบา”( Danau Toba ) อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเมดาน (Medan) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของสุมาตราเหนือ เป็นศูนย์กลางทางการค้าและท่าเรือที่สำคัญ ราว 160 กิโลเมตร ทะเลสาบแห่งนี้ มีเกาะขนาดใหญ่ ชื่อซาโมซีร์ (Samosir) อยู่ตรงกลางทะเลสาบ และมี Parapat เป็นท่าเรือและเมืองท่องเที่ยวริมชายฝั่ง มีฐานะเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดและลึกที่สุดในเอเซีย เป็นทะเลสาบที่เกิดจากระเบิดของภูเขาไฟครั้งยิ่งใหญ่และสำคัญของโลกเมื่อ75,000ปีมาแล้ว และการยุบตัวลงไปของแผ่นดินที่ถล่มลงด้วยการระเบิดของภูเขาไฟบนเทือกเขาบารีซานที่เต็มไปด้วยป่าเขตร้อน กล่าวได้ว่าเป็น Caldora ที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ( largest volcanic lake in the world )

                   

           การระเบิดของซูเปอร์ภูเขาไฟ (supervolcano) นั้นแตกต่างจากการระเบิดของภูเขาไฟทั่วไป แน่นอนว่ามันรุนแรงมากกว่าแรงระเบิดของภูเขาไฟธรรมดาหลายร้อยเท่า   จากการเกิดระเบิดใกล้กับเส้นศูนย์สูตรจึงทำให้เถ้าภูเขาไฟ และก๊าซกระจายไปยังซีกโลกเหนือและใต้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ 

          เชื่อกันว่าการระเบิดครั้งนั้นมีแรงดันมหาศาลทำให้ลาวาพุ่งไปไกลถึงภาคใต้ของประเทศอินเดีย คิดเป็นระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร และกว่าจะพ่นลาวาออกมาจนกว่าจะมอดไปต้องใช้เวลานาน 6 ปี อีกทั้งยังทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของโลกตามมา เมื่อศึกษาหลักฐานจากชั้นหินใต้มหาสมุทรอินเดีย และแท่งน้ำแข็งจึงทำให้รู้ว่า จากการระเบิดในครั้งนั้น ได้ทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกลดลง 3-3.5 degrees Celsius เกิดฤดูหนาวภูเขาไฟอย่างน้อย 6 ปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างรุนแรงพืชและสัตว์มากมาเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  มีการสันนิษฐานของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า เป็นการระเบิดครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เคยขึ้นมาในโลกการระเบิดของภูเขาไฟโทบาทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง  และหากเกิดการระเบิดของภูเขาไฟระดับนี้เกิดขึ้นมาอีก อาจจะทำให้พืชและสัตว์ชนิดต่างๆ รวมทั้งมนุษยชาติด้วยสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้สูญพันธุ์ไปเลยก็ได้


                    
                    
         ภูเขาไฟโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นปล่องภูเขาไฟ การระเบิดจะเกิดจากการสะสมของหินละลาย (Magma)ใต้เปลือกโลก จำนวนมากและถูกแรงดันมหาศาลภายในโลกผลักดันให้ปะทุออกมาบนผิวโลก แต่สำหรับ Supervolcanoe นั้นมันซ่อนตัวอยู่ลึกใต้พื้นดินจึงทำให้ยากต่อการตรวจพบ แทนที่หินละลายเหล่านี้จะระเบิดออกมาที่ผิวโลก หินละลาย(Magma) เหล่านี้กลับสะสมกันก่อนเป็นเวลาหลายพันปีจนเกิดเป็นบ่อหินละลายขนาดยักษ์ (Magma chamber) ทับถมกันจนหนาหลายสิบกิโลเมตรอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก  ระหว่างนั้นมันจะดูดซับเอาก๊าซต่างๆ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ และ คารบอนไดอ๊อกไซด์ไว้  เมื่อสะสมนานนับพันปีก็จะเกิดแรงดันมหาศาล และในที่สุดก็เพียงพอที่จะถึงกาลปะทุอออกมาเหนือผิวโลกอย่างรุนแรง เถ้าถ่านภูเขาไฟจากการระเบิดจะขึ้นไปปกคลุมบรรยากาศ ก๊าซจำพวกซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะสะท้อนแสงอาทิตย์ไม่ให้ตกลงมาสู่พื้นโลกได้ เต็มที่ ทำให้อุณหภมิโลกลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าฤดูหนาวนิวเคลียร์ ( nuclear winter ) ปริมาณของเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ โทบาปล่อยออกมา คิดเป็นประมาณ 2800 ลูกบาศก์กิโลเมตร(2800 cubic km)  เทียบกับ Supervolcanoes ของ Yellowstone ซึ่งปะทุขึ้นเมือ 2 ล้านปีมาแล้ว นั้นปล่อยเถ้าถ่านออกมา 2500 ลูกบาศก์กิโลเมตร (2500 cubic km) จากหลักฐานที่มีอยู่ จึงเชื่อกันว่าโทบา คือการระเบิดครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยขึ้นมาในโลก


          เมื่อภูเขาไฟระเบิดจึงทำให้กรวยภูเขาไฟพังทลายลง เกิดเป็นแอ่งภูเขาขนาดใหญ่  และเมื่อผ่านการระเบิดมาอย่างยาวนาน จึงทำให้ปากปล่องขยายทั้งทางกว้างและลึกขึ้นเรื่อยๆ หินเหลวและก๊าซต่างๆที่สะสมอยู่ใน Magma chamber  เมื่อถูกพ่นออกมาจนหมด ภายในก็จะกลายเป็นพื้นที่ว่างขนาดใหญ่และแผ่นดินเบื้องบนก็จะยุบตัวลงเข้าไปแทนที่พื้นที่ว่างดังกล่าว จนเกิดเป็นแอ่งหลุมขนาดยักษ์ ( ซึ่งนักธรณีวิทยาเรียกหลุมที่เกิดจากการระเบิดของ Supervolcanoes ว่า Caldora ) 

        เมื่อมีฝนตกลงมาสายน้ำก็จะถูกกักขังไว้ในแอ่งจนกลายเป็นทะเลปากปล่องภูเขาไฟ (Volcano crater) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ( โดยลักษณะของ Caldera volcano จะมีลักษณะปากหลุมกว้างใหญ่เป็นวงกลม หรือเป็นหลุมแอ่งกระทะ ) มีเนื้อที่ 1,645 ตารางกิโลเมตร อยู่สูง 906 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีความยาวของทะเลสาบกว่า 100 กิโลเมตร กว้าง 30 กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 450 เมตร จุดที่ลึกที่สุด มีความลึกที่สุดถึง 505 เมตร จากการระเบิดของภูเขาไฟได้ทำให้เกิดทัศนียภาพของหน้าผาสูงถึง 500 เมตร กลางทะเลสาบจะมี samosir island  และมีทะเลสาบขนาดย่อมอยู่บนเกาะ samosir อีกต่อหนึ่ง

 



        นักธรณีวิทยาพบว่าการเกิด Supervolcanoes มักจะเกิดในบริเวณที่เรียกว่า Subduction zone ซึ่งเป็นบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นมหาสมุทรกับแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีปเคลื่อนที่เข้าชนกัน แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นมหาสมุทรที่บางและมีความหนาแน่นสูงกว่าจะมุดตัวลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีปที่หนาและความหนาแน่นน้อยกว่าเช่น บริเวณชายฝังแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา และ บริเวณประเทศอินโดนิเชียเป็นต้น


อีกสมญานามหนึ่งที่ทะเลสาบโทบาได้รับคือ " สวิสเซอร์แลนด์แห่งอินโดนีเซีย "


                  



         เรานั่งเรือกันต่อไปยังเกาะซาโมซีร์ ระหว่างทางชื่นชมธรรมชาติและความสวยงามของแนวเทือกเขาที่โอบล้อมรอบทะเลสาบที่อดีตเคยเป็นภูเขาไฟขนาดอภิมหายักษ์ที่สุดที่มนุษย์ได้รู้จัก......







อ่านต่อ " 5.สุสาน King of Sidabutar" ครับ...
http://anutjack3.blogspot.com/2014/03/5-king-of-sidabutar.html



3 . เกาะสุมาตรา



          เกาะสุมาตรา (Sumatra หรือ Sumatara หรือ Sumatera) คือเกาะที่มีขนาดเป็นอันดับ 6 ของโลก (มีขนาดประมาณ 470,000 กม.) และเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย
แกนที่ยาวที่สุดของเกาะอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือไปตะวันออกเฉียงใต้ โดยผ่านเส้นศูนย์สูตรตรงกลาง พื้นที่ด้านในของเกาะแบ่งเป็น 2 เขตทางภูมิศาสตร์ใหญ่ ๆ คือ เทือกเขาบารีซัน (Barisan Mountains) ทางตะวันตกและพื้นที่ลุ่มทางตะวันออก

          ทางตะวันออกเฉียงใต้คือเกาะชวา แบ่งด้วยช่องแคบซุนดา ทางเหนือคือคาบสมุทรมาเลย์ แบ่งด้วยช่องแคบมะละกา ทางตะวันออกคือเกาะบอร์เนียว แบ่งด้วยช่องแคบการีมาตา (Karimata Strait) ทางตะวันตกของเกาะคือมหาสมุทรอินเดีย สันหลังของเกาะคือเทือกเขาบาริซาน ภูเขาไฟในภูมิภาคนี้ทำให้เกาะนี้มีทั้งพื้นดินอุดมสมบูรณ์และทัศนียภาพอันสวยงามเช่น รอบ ๆ ทะเลสาบโตบา (Lake Toba) นอกจากนี้ ยังมีแร่ถ่านหินและทองคำด้วย ทางตะวันออก แม่น้ำใหญ่พัดพาเอาตะกอนดินจากภูเขา ทำให้เกิดลุ่มกว้างขวาง พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสำหรับการเกษตร อย่างไรก็ดี พื้นที่นี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่ออินโดนีเซียเป็นอย่างมาก สุมาตราผลิตน้ำมันทั้งจากบนดินและใต้ดิน ("from above the soil and underneath") กล่าวคือ ผลิตทั้งน้ำมันปาล์มและปิโตรเลียม

          พื้นที่ส่วนใหญ่ของสุมาตราเคยปกคลุมด้วยป่าชื้นเขตร้อน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ลิงอุรังอุตัง สมเสร็จ และ เสือสุมาตรา และพืชพรรณที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น แรฟเฟิลเซีย (Rafflesia) อย่างไรก็ดี การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ร่วมกับการคอร์รัปชันและการทำไม้ผิดกฎหมาย ทำให้มีพื้นที่ลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ พื้นที่อนุรักษ์ยังถูกทำลายด้วย

                   

 North Sumatra 














          สุมาตราเหนือ ( อินโดนีเซีย : Sumatera Utara) สุมาตราเหนือทอดตัวไปตามเกาะของเกาะสุมาตรา ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและช่องแคบมะละกา  มีพื้นที่ 72,981 กิโลเมตร มีที่กว้างราบต่ำตามช่องแคบมะละกา  ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันตกดินขึ้นไปเป็นเทือกเขาทอดตัวตามความยาวของเกาะสุมาตรา ภูเขาเกิดจาก การระเบิดของภูเขาไฟโบราณ

         เมดาน (อินโดนีเซีย: Kota Medan) เป็นเมืองหลวงของ จังหวัดสุมาตราเหนือ ในประเทศ อินโดนีเซีย ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งด้านทิศเหนือ ของเกาะสุมาตราห่างจากเมือง บันดา อาเจะห์ ( ที่โดนสึนามิ ) ราว 500 กม เมดานเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศอินโดนีเซีย รองจาก จาการ์ตา สุราบายา และ บันดง และยังเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 2 ล้านคน  มีเศรษฐกิจดีมากเพราะพื้นที่มีทั้งทะเล ที่ราบและภูเขา เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและท่าเรือสินค้า  คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ รองมาก็ศาสนาฮิสลาม รัฐบาลไม่ให้ความสนใจเกาะสุมาตราเท่าไหร่ งบประมาณส่วนใหญ่จะลงที่เกาะชวาหมด ที่นี่ก็เลยพัฒนาช้ามาก













          ในสมัยโบราณ เกาะแห่งนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า สุวรรณทวีป (เกาะทอง) และสุวรรณภูมิ (แผ่นดินทอง) ทั้งนี้ก็เพราะมีการพบทองคำบนที่ราบสูงของเกาะแห่งนี้ ส่วนนักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับ เรียกเกาะนี้หลายชื่อ ได้แก่ ลามรี, ลามุรี, ลามบรี และรามนี (Lamri , Lamuri, Lambri , Ramni) ในคริสต์ศตวรรษที่ 10- 13 โดยหมายถึงอาณาจักรที่อยู่ใกล้กับเมืองบันดุงอาเจะห์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจุดแรกที่พ่อค้าที่เดินเรือมักแวะมาขึ้นฝั่ง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ชื่อสุมาตราเป็นที่นิยมเรียกกันมาก โดยหมายถึงอาณาจักรซามูดรา (สมุทร) ซึ่งกำลังเรืองอำนาจ แต่นักเขียนชาวยุโรปในศตวรรษที่ 19 พบว่าชาวพื้นเมืองไม่มีคำเรียกชื่อเกาะแห่งนี้

          เมดาน เริ่มต้นเป็นหมู่บ้านที่เรียกว่า กัมปง เมดาน (หมู่บ้านเมดาน ). หมู่บ้านเมดาน ถูกก่อตั้งโดย Guru Patimpus ประมาณปี ค.ศ. 1590 พื้นที่ดั้งเดิมของเมดาน เป็นพื้นที่บริเวณที่ แม่น้ำดีลิ Deli River และ แม่น้ำบาบูรา Babura River มาบรรจบกัน พ่อค้าชาวอาหรับในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 มีการบันทึกว่าชื่อ “ เมดาน “ มีที่มาจาก เมดิน่า ซึ่งเป็นชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ในภาคตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตามมีแหล่งข้อมูลอื่น ที่ระบุว่าชื่อของเมดานที่จริงมาจาก คำในภาษาฮินดี ของอินเดียที่ว่า"Maidan"แปลว่า "พื้นดิน" หรือ "ที่ดิน" ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของเมดาน ย้ายถิ่นฐานมาจากคาบสมุทรมาลายู ( ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน ) ในอดีตเมดานอยู่ภายใต้การปกครองของ สุลต่านแห่งอาเจะห์ มีการพัฒนาจนเจริญรุ่งเรื่องอย่างมาก และ ในรัชสมัยปีที่สองของสุลต่าน Deli (ระหว่าง 1669-1698) เมดานเกิดมีสงครามขึ้น และมีการสู้รบกับกองทหารม้าของอาเจะห์ จนทำให้เมดานขาดการเหลียวแลจากอาเจะห์ ไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร จนถึงปีค.ศ. 1860 มีการเข้ามาของชาวดัตช์ มีการริเริ่มเพาะปลูกยาสูบ จนทำให้เมดานเป็นเมืองสำคัญทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค ในปี 1918 เมดานได้กลายเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการของ จังหวัดสุมาตราเหนือ


                   

เมดาน มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 3 เส้น คือ 
1.ดาเนา โตบา เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย มีเกาะซาโมซีร์ อยู่ตรงกลางทะเลสาบ ห่างจากเมดานราว 160 กม
2.เบอรัสตากี เป็นเมืองบนที่สูงราวพันเมตร อากาศเย็นวิวสวย ห่างเมดานราว 70 กม
3.อุทยานแห่งชาติ กูนุง ลิวเซอร์ เน้นเดินป่า ห่างเมดานราว110 กม

          การเดินทางไปเมืองเมดาน จากประเทศไทย ค่อนข้างลำบาก  ต้องนั่งเรือข้ามช่องแคบมะละกาขึ้นฝั่งที่เมืองเบลาวัน ( Belawan )  มีอาคารเก่าแก่จำนวนมากใน Medan ที่ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมของชาวดัตช์เอาไว้ อาคารเหล่านี้รวมถึงศาลากลางจังหวัดเก่า ไปรษณีย์กลาง และอาคาร The Tirtanadi Water Tower  ซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ของเมือง และเมดานก็ยังมีชาวพื้นเมืองที่สำคัญคือชาว บาตัค เป็นพวกมนุษย์กินคน ลักษณะเด่นเฉพาะคือบ้านแบบบาตัค

 Maimoon Palace 

          วังสุลต่านในเมืองเมดาน เป็นคอนกรีตกึ่งไม้ 2 ชั้น สถาปัตยกรรมทรงปั้นหยาผสมตะวันตก มีอายุร้อยกว่าปี สร้างโดย Sultan of Deli ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1888 มีสุลต่าน ซึ่งสืบทอดมากว่า 12 รุ่น จนกระทั่งสุลต่าน อัซมี่ เปอร์กาสา อลาม อัลฮัจ สุลต่านองค์ก่อนพร้อมด้วยสุลตาน่าได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องพระที่นั่งตก เมื่อคราวเกิดเหตุการณ์กบฏแบ่งแยกดินแดนที่จังหวัดอาเจะห์ ทำให้สุลต่านองค์ปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นอายุเพียง 9 ขวบ ต้องขึ้นรับตำแหน่งสุลต่านแห่งวัง Maimoon แทน สำหรับพระราชวัง (The Palace), Grand Mosque, และ Taman Sri Deli นั้นถูกสร้างขึ้นในปี 1886 ซึ่งเป็นแหล่งทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ในยุคเดียวกัน

พระราชวัง Maimoon และพระที่นั่งของราชบุตรจัดไว้ให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกได้  ( ในรูปผมขอนั่งเป็นราชบุตรสักพักครับ และมีบัลลังค์ของสุลต่านเหมือนกัน แต่จัดโชว์ไม่อนุญาตให้นั่ง )
                     



          ระยะทางจากเมดานมุ่งหน้าสู่เมือง “ พาราพัท ” ( Parapat ) เป็นท่าเรือสำหรับไปล่องทะเลสาบโทบา และท่าเรือที่จะไปเกาะ “ ซาโมซีร์ ” ( Samosir Island ) ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลสาบโทบา ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเมดานราว160กิโลเมตร ดังนั้นเราจึงต้องผ่านเมืองน้อยใหญ่ และจะพบสวนยาง สวนปาล์ม ไปตลอดทาง  มีเมืองสำคัญระหว่างเส้นทางคือ “ บราสตากี้ ” ( Berastag i ) เป็นเมืองที่อยู่บนที่ราบสูงคาโรอากาศเย็น เป็นเมืองเริ่มต้นสำหรับคนที่ตั้งใจไปปีนภูเขาไฟ Sibayak หรือภูเขาไฟ Sinabung




 เมือง Berastagi เมืองแห่งผลไม้ 



          เมืองบราสตากี้นั้น (Berastagi) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,220 เมตร จึงทำให้มีอากาศเย็นสบายทั้งปี ตั้งอยู่ใกล้ๆกับทะเลสาบโทบาและอยู่ห่างจากเมืองเมดานเพียง 70 กิโลเมตรเท่านั้น อยู่ใกล้กับภูเขาไฟซินาบุงและซิบายัค จึงทำให้พื้นที่นี้สามารถเพาะปลูกไม้ผลได้เป็นอย่างดี ก็เพราะว่าดินภูเขาไฟเป็นดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุนานาประการนั่นเอง จึงทำให้ที่เมืองบราสตากี้นี้เป็นศูนย์กลางค้าส่งทั้งผักและผลไม้ ผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่นี่เลยคือ อะโวคาโด เสาวรส มะม่วง ส้ม สตรอเบอรี่ สละ ซึ่งสละอินโดนีเซียนั้นขึ้นชื่อมากเรื่องความกรอบของเนื้อสละ



         ออกนอกเส้นทางสักหน่อย ....แวะไปดูภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงของเกาะสุมาตรา มีทั้งภูเขาไฟซินาบุง (Sinabung Volcano) และภูเขาไฟซิบายัค (Sibayak Volcano) …..ภาษาอินโดนีเซียเรียกภูเขาไฟว่า “ กุนุง ” (Gunung)

 Sinabung Volcano 



          ภูเขาไฟซินาบุงนั้นเป็นภูเขาลูกแรกที่จะถึงก่อนซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองบราสตากี้เพียง 30 กิโลเมตร ด้วยความสูงจากยอดวัดได้ 2,417 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล บริเวณยอดภูเขาไฟมีจุดพักแรมไว้บริการนักไต่เขาด้วย ภูเขาไฟลูกนี้ยังคงมีชีวิตอยู่นะครับ ยังคงมีควันและเถ้าถ่านพุ่งออกมาเสมอ ในอดีตภูเขาไฟลูกนี้เคยระเบิดขึ้น พ่นควันและลาวาเถ้าถ่านออกมาปกคลุมถึงน่านฟ้าภาคใต้ของไทย หากต้องการปีนเขา ต้องเริ่มต้นปีนที่หมู่บ้าน Lau Kawar และ Mardinding ใช้เวลาในการปีนขึ้นประมาณ 4 ชั่วโมง




 Sibayak Volcano 

     
          ภูเขาไฟซิบายัค ซึ่งมีความสูง 2,172 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งทำให้บนยอดเขามีอุณหภูมิเฉลี่ย 18 องศาฯตลอดทั้งปี แต่ยังเป็นภูเขาไฟที่ยังคงมีชีวิตเหมือนกัน ที่สำคัญภูเขาไฟลูกนี้ปีนยากกว่าลูกแรกเพราะมีป่าดงดิบขึ้นหนาทึบ การไต่เขาจึงอันตรายกว่ามาก บริเวณปากปล่องยังคงมีลาวาเดือดพล่านอยู่  หากต้องการพิชิตยอดภูเขาไฟลูกนี้ จะต้องไปขึ้นเขาที่หมู่บ้าน Jaranguda ที่เดินเพียง 1.5 กิโลเมตร แต่ทางเดินลาดชันมาก และ หมู่บ้าน Raja Berneh ที่อยู่ไกลออกไป 15กิโลเมตร และใช้เวลาในการขึ้น 2-3ชั่วโมง


                      


         เลยจากบราสตากี้มาไม่ไกลนัก  ระหว่างทางมี น้ำตก “ซีปีโซปีโซ่” (SipisoPiso) ที่มีความสูงถึงสูง 110 เมตร เป็นน้ำตกรูที่ไหลจากหน้าผาก่อนจะตกไปยังทะเลสาบโทบา และยังได้แวะชมหมู่บ้านของชาวบาตักอันเป็นชนพื้นเมืองของที่นี่อีกด้วย

          น้ำตกซิปิโซปิโซ เป็นน้ำตกหนึ่งที่สวยที่สุด เป็นแหล่งน้ำตกไหลมาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ไหลมารวมกันแล้วตกลงสู่หน้าผา และไหลต่อไปยังทะเลสาปโทบา เป็นน้ำตกที่มีความงดงามบวกกับบรรยากาศโดยรอบซึ่งเป็นเทือกเขาหินสูงมีเมฆหมอกหนาปกคลุมบนยอดเขา พร้อกับ ชมวิวด้านล่างซึ่งเป็นแอ่งทะเลสาปน้ำจืดที่ใหญ่

       
          เมื่อถึงเมืองพาราพัทติดทะเลสาบ Toba Lake โดยรถอีซูซุ พาร์ทไฟเดอร์ ที่ผมเลือกใช้ในการเดินทางเปิดวิสัยทัศน์ครั้งนี้ รุ่นนี้มี 7 ที่นั่ง ค่อนข้างกว้างและขับสบาย ๆ ( อีซูซุเป็นรถที่ผูกพันกับผมมาตลอด ) แล้วจึงนั่งเรือไปอีกครึ่งชั่วโมงจะเป็นเกาะซาโมซีร์ (Samosir Island) อยู่กลางทะเลสาบ แล้วเข้าหมู่บ้าน Tuk Tuk และ Tomok โดยรอบถ้ามองก็จะรู้เลยว่าบริเวณนีเคยเป็นปล่องภูเขาไฟ และดับลงเมื่อ 30000-75000 ปีก่อน ซึ่งขนาดของเกาะซาโมสีนี้ เทียบได้เกือบจะเท่ากับขนาดของเกาะสิงค์โปร์ เพียงแต่ว่าใจกลางของเกาะเป็นเทือกเขาสูง


















          ที่เกาะซาโมสีแห่งนี้ ปัจจุบันก็เงียบสงบมากๆ นักท่องเที่ยวไม่มากเหมือนแต่ก่อน ในอดีตชาวบาตัก ( Batak ) อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ชาวบาตักนั้นแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่  คือ โทบา( Toba ), ปัก ปัก( Pak Pak ), สิมาลุงกัน( Simalungun ), คาโร( Karo ) และ เมนดาลิง( Mandailing) ซึ่งจะมีอาณาเขตที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน ซึ่งแต่ละกลุ่ม ก็จะมีราชาหรือผู้นำเผ่าของตน ชาวบาตักนั้นมีความเชื่อที่เข้มแข็ง ในเรื่องเวทมนต์ ภูตผี ปีศาจ คาถา แม่มด หมอผี วิญญาณ รวมไปถึงการกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหารโดยกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด อาศัยอยู่ที่บริเวณ Toba Lakeซึ่งบริเวณนี้สูงจากระดับน้ำทะเล 1000 เมตร และเป็นทะเลสาปน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย

          จนกระทั่ง ชาวดัทซ์ล่าอาณานิคมมาจนถึงที่นี่ มิชชันนารีจึงได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสตร์ ทำให้หลังจากนั้นชาวบาตัก จึงได้เปลี่ยนความเชื่อมานับถือศาสนาคริสต์ แต่ความเชื่อดั้งเดิม ก็ยังสามารถพบเห็นได้บ้าง การแกะสลักไม้ และหิน








          เอกลักษณ์ของบ้านชาวบาตักที่เห็นได้ทั่วไปนั้นก็คือ หลังคามีลักษณะโค้งเหมือนเขาควาย หลังคาสูง รูปร่างคล้ายเรือ สีดั้งเดิมจะเป็นสีแดง ดำ ขาว ยกพื้นสูง ที่ว่างใต้ถุนบ้านสำหรับ ควาย หมู หรือแพะ ด้านหน้าบ้านจะมี monster heads ติดไว้ และะมีรูปจิ้งจกอยู่ด้วยทุกบ้าน เรื่องจิ้งจกนี้บางคนก็แปลความหมายว่ามิตรภาพ บางคนก็แปลความหมายว่าเป็นเรื่องของการปรับตัวในการดำรงอยู่หรือมีความเป็นพี่เป็นน้องกันทั้งชนเผ่า
          ชาวบาตักจะมีความชำนาญในด้านรูปแกะสลักไม้ ซึ่งรูปแกะสลักไม้ ก็เป็นเทพที่ชาวบาตักเชื่อว่าเป็นเทวดาที่จะคุ้มครองดูแล รักษาชีวิตชาวบาตัก ซึ่งสัญญลักษณ์ก็จะแตกต่างกันไป ถ้ามีโอกาสมาที่นี่ก็สามารถศึกษาเรื่องราวได้ที่พิพิธภัณฑ์ ชาวบาตักที่หมู่บ้าน สิมานิน

          สำหรับอาชีพของชาบาตักนั้น จะให้ความสำคัญไปทางการประมง ด้วยสภาพภูมิประเทศในบางส่วนจะมีความลาดชันจึงไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกนัก การปลูกข้าวก็พอมีแค่เพียงพอต่อการบริโภคเท่านั้น แต่ด้วยความที่เป็นดินแดนภูเขาไฟมาก่อนดินจึงมีความสมบูรณ์เพาะปลูกได้ผลดี และอีกหนึ่งรายได้หลักย่อมหนีไม่พ้นรายได้จากการท่องเที่ยว คนบาตักส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ก็จริงแต่ก็ยังนับถือภูตผี การกลับชาติมาเกิด



          Batak dance ที่พิพิธภัณฑ์ Simanando ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสิมานินดู ห่างจากหมู่บ้าน Tuk Tuk ที่พักอยู่ประมาณ 15กม.อยู่ทางด้านเหนือของเกาะ Samosir เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของชาวบาตัก จัดแสดงสิ่งของที่ที่บ่งบอกถึงอารยธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ เช่น ลายผ้า ข้าวของเครื่องใช้ และ แบบบ้านดั้งเดิมของชาวบาตัก และที่นี่เองราชาของชาวบาตัก ชื่อว่า ราจา สิมาลุงกัน ( Rajah Simalungun ) เคยอาศัยอยู่ที่นี่พร้อมด้วยชายา ทั้ง 14 พระองค์ เป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ

                    
      
          เดินทางไปกันต่อที่ LAKE TOBA ....เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวเยอะมาก จนที่นี่ขึ้นชื่อเรื่อง Full Moon Party แต่ระยะหลังด้วยหลายๆสาเหตุ นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่นี่น้อยลง จนปัจจุบันไม่มีการจัดปาร์ตี้แล้ว เดี๋ยวนี้มีแต่คนบอกว่า Full Moon Party ต้องที่เมืองไทย...ขนาดคนบาตักที่นั่นยังทราบข่าว...



อ่านต่อ " 4 .ทะเลสาบโทบา อภิมหายักษ์ที่หลับแล้ว " ครับ...
http://anutjack3.blogspot.com/2013/10/5.html



วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

2. ย้อนประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย


     
     มีศิลาจารึกบอกไว้ให้ทราบว่า แถวๆ เมืองจาการ์ตาในปัจจุบันนี้เมื่อย้อนไปคริสตศตวรรษที่ 5-6 เคยมีอาณาจักรโบราณเก่าแก่ที่สุดแห่งชวาตะวันตก ชื่อว่า ตรุมา (Taruma) เรียกเต็มว่า ตรุมานคร บันทึกฝ่ายจีนเรียกว่า โตโลมา ซึ่งเป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา (บางตำราว่าเป็นฮินดู) มีราชาที่เข้มแข็งที่สุด พระนามว่าปูรณวรมัน แต่เรื่องราวของอาณาจักรนี้ นักประวัติศาสตร์ไม่อาจหารายละเอียดมาเล่าได้



          ครั้นถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 7  ( ยุคเดียวกับอาณาจักรศรีวิชัยในสุมาตรา ) ก็ได้มีอาณาจักรสำคัญเกิดขึ้นแล้วในชวาหลายแห่ง ทั้งอาณาจักรค้าขายชายฝั่งทะเล และอาณาจักรกสิกรรมทำนาข้าวลึกเข้าไปในผืนแผ่นดิน โดยเฉพาะในชวาภาคกลางและภาคตะวันออก

           เมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ 8 (ค.ศ.757) อาณาจักรมาตาราม  มีกษัตริย์เป็นราชวงศ์ไศเลนทร (Sailendra) เจริญขึ้นมาบนที่ราบเกทุ (Kedu Plain) ตอนต้นนับถือศาสนาฮินดู แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นนับถือพระพุทธศาสนา
          กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร ได้สร้างมหาสถูปยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า Borobudur ( สันนิษฐานว่าอาจเลือนมาจากคำว่า บรมพุทโธ ” ) ขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 807  (บางตำราว่าสร้างตอนกลางคริสตศตวรรษที่ 9 อยู่ห่างจากเมืองจาการตาร์ประมาณ 68 กิโลเมตร)
          มหาสถูป Borobudur มีความยิ่งใหญ่เพียงได้นั้น เห็นได้จากการสร้างนั้นใช้ก้อนหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านตารางฟุต บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 121 เมตร (403 ฟุต) สูงขึ้นไปเป็นรูปแบบปิระมิด มีลานเป็นชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป 8 ชั้น และในแปดชั้นนั้น 5 ชั้นล่างเป็นลานสี่เหลี่ยม 3 ชั้นขึ้นไปเป็นลานวงกลม และบนลานกลมชั้นสูงสุด มีพระสถูปตั้งสูงขึ้นไปอีก 31.5 เมตร


                                           

( นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 2  ( Jayavarman II )   ผู้สถาปนาอาณาจักรขอมโบราณมีเชื้อสายทางวงศ์กษัตริย์แห่งฟูนันด้วย มาจากราชสำนักแห่งไศเลทรในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 8 เมื่อประมาณ ค.ศ.790 และได้ประกาศอาณาจักรขอมเป็นอิสระจากไศเลนทร ในปี ค.ศ.802 )

          กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรนี้ ยังเป็นใหญ่ครองอาณาจักรศรีวิชัยในสุมาตรา โดยมีอำนาจครองแหลมมลายูส่วนใหญ่ด้วย จนกระทั่งศรีวิชัยที่ราชวงศ์ไศเลนทรไปปกครองนั้นเสื่อมลงไปในกลางคริสตศตวรรษที่ 11

       
        ในยุคที่ศรีวิชัยในสุมาตราเสื่อมลงช่วงต้นๆ คือในคริสตศตวรรษที่ 11 ได้เกิดมีอาณาจักรใหม่ขึ้นในชวาตะวันออก นับถือศาสนาฮินดูชื่อว่า กาทิรี    (Kadiri;ปัจจุบันเรียกว่า Kediri) มีเมืองหลวงชื่อว่าดาหา ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ใน คริสตศตวรรษที่ 8โดยพระเจ้าสญชัยแล้วก็มีอำนาจขยายออกไปตั้งแต่ชวาภาคกลางถึงภาคตะวันออก ต่อมาต้นคริสศตวรรษที่ 11 ศูนย์อำนาจได้เคลื่อนย้ายไปทางตะวันออก เวลาผ่านไป ได้เกิดภัยพิบัติ ถูกศรีวิชัยที่ขัดแย้งกันมาทำลายบ้าง ถูกกบฏทำลายบ้าง 


          จนกระทั่งปี ค.ศ.1019 เกิดมีราชาองค์สำคัญเรียกพระนามกันว่า Airlangga รวมกำลังฟื้นอาณาจักรให้เข้มแข็ง แล้วแบ่งอาณาจักรให้โอรส 2 องค์ครอง ครั้งนั้น อินโดนีเซียได้ถูกแยกเป็น 2 อาณาจักร คือ กาทิรี กับ ชังคละ ทำให้แตกกันและอ่อนแอลง กระทั่งราชาชยาภัย ( พระเจ้าเกนอังรก )สามารถรวมชังคละเข้ากับกาทิรีได้สำเร็จ และขยายดินแดนออกไปได้มาก แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าคุมสุมาตราที่ศรีวิชัยครองอยู่ได้ แล้วในที่สุด ในสมัยพระเจ้ากฤตนคร (ค.ศ.1268-1292 กษัตริย์ร่วมสมัยเดียวกับพ่อขุนรามคำแหง ฯ แห่งกรุงสุโขทัย ) เป็นกษัตริย์ชวาองค์แรก ที่ยกกองทัพไปปราบอาณาจักรศรีวิชัยที่สุมาตราได้  ( มีอาณาเขตครอบคลุมมลายู เกาะชวา เกาะสุมาตรา ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา และบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าลังกาสุกะ และกลันตัน )  และได้ยึดครองบางส่วนของเกาะสุมาตราตีได้เกาะบาหลี มะทุราส่วนหนึ่งของเกาะบอร์เนียว และเกาะใกล้เคียงอื่น ๆ และเริ่มมีสงครามกับไทยเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือช่องแคบมะละกาด้วย โดยตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นมาแทนที่ ชื่อว่า  อาณาจักรสิงหสารี  
          และด้วยอำนาจอันยิ่งใหญ่ของสิงหสารีก็เป็นที่สนใจแก่จักรพรรดิกุบไลข่านในจีน ในปี 1289 จักรพรรดิกุบไลข่าน ได้ส่งทูตมาขอเครื่องราชบรรณาการ ( จิ้มก้อง ) ในเวลานั้นพระเจ้ากฤตนคร ผู้ปกครองอาณาจักรสิงหสารีทรงพิโรธและให้จับตัวราชทูตจีนมาตัดหู และกรีดหน้าแล้วปล่อยตัวไป เมืองจีนทรงพิโรธว่าทางสิงหสารีปฏิบัติต่อราชทูตของพระองค์อย่างไม่ควรแก่เกียรติยศ จึงเตรียมจะส่งทหารมาลงโทษ แต่ระหว่างนั้นในปี ค.ศ.1292 อาณาจักรกาทิรีคู่แข่ง ที่ถูกสิงหสารีปราบลงก่อนนั้น โดยเจ้าชายชัยขัตวงศ์ แห่งกาทิรี พระเจ้ากฤตนครสิ้นพระชนม์ในที่รบ ทำให้อาณาจักรสิงหสารีสิ้นสลาย ระเด่นวิชัย หรือ การ์ตะราชะสา (Kertarajasa) โอรสกษัตริย์แห่งอาณาจักรสิงหส่าหรี ซึ่งอยู่บนเกาะชวาเช่นกัน ได้หนีภัยไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่ฝั่งตะวันตก

คราวนั้นปลายปี ค.ศ.1292  จักรพรรดิ์กุบไล่ข่านได้ส่งกองเรือรบมาแก้แค้นจำนวน 1,000 ลำมาประชิดชายฝั่งชวา ระเด่นวิชัยได้เข้าร่วมกับกองทัพจีน ยกกำลังเข้าล้อมอาณาจักรสิงหัตสาหรีปราบเจ้าชายชัยขัตวงศ์ได้แล้ว ระเด่นวิชัยก็ได้ระดมกำลังขับไล่ทหารจีนออกไปจากชวาได้ แล้วขึ้นครองราชย์สืบแทน ได้ย้ายราชธานีไปสร้างราชธานีใหม่ ณ ที่ตั้งค่ายมัชปาหิตเรียกอาณาจักรใหม่ว่า  อาณาจักรมัชปาหิต  
          เป็นอันว่าอาณาจักรมาตาราม ถูกแทนที่ด้วยอาณาจักรกาทิรี และอาณาจักรกาทิรี ถูกแทนด้วยสิงหสารี แล้วสิงหสารีก็เปลี่ยนเป็นมัชปาหิต  ต่อมากษัตริย์มัชฌปาหิตก็ขยายอิทธิพลโดยส่งกองทัพเรือ เข้ามา ยึดครอง ดินแดนตามหมู่เกาะ ตลอดขึ้นมาถึงปลายแหลมไทย-มลายู ยึดปาหัง เสียมวัง กลันตัน และตรังกานู ฯลฯ ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า ลังกาสุกะ ไว้ได้

          ในระยะเดียวกันนี้ อาณาจักรสุโขทัยก็ได้แผ่อำนาจเข้ามาครอบครองรัฐละโว้-อโยธยา สุพรรณภูมิ และนครศรีธรรมราช ไว้ และได้ผนวก กำลัง กันเข้าทำการขับไล่อิทธิพลของกษัตริย์มัชฌปาหิตออกไปจากแหลมไทยมลายู ต่อมามัชปาหิตเริ่มแผ่อำนาจเข้ามารุกรานแย่งเมืองอาเจ ซึ่งเป็นของไทยในเกาะสุมาตราจึงส่งกองทัพไปรบมัชปาหิต เมื่อปี ค.ศ.1295 แต่สงครามได้ยุติลงเพราะพระเจ้ากรุงจีนขอไว้  แต่ต่อมาภายหลังมัชปาหิตได้ยกกองทัพไปสุมาตรา และเข้าตีเมืองอาเจอีกเป็นครั้งที่สอง กองทัพเรือไทยจึงยกลงไปตีเกาะชวา เมื่อปี ค.ศ.1360 ในการสงครามครั้งนั้นไทยได้ทิ้งปืนใหญ่ไว้สองกระบอก

          อาณาจักรมัชปาหิตมีกษัตริย์ปกครองเจ็ดองค์ ต่อมาได้มีการก่อการขบถจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ ทำให้อำนาจของอาณาจักรมัชปาหิต อ่อนกำลังลงรัฐต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในอำนาจต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระ  และการขบถสงบลงโดยพระเจ้ายูโล แห่งราชวงศ์เหม็ง ซึ่งได้ส่งแม่ทัพเช็งโห จัดกองทัพเรือจีนไปปราบจับหัวหน้าขบถประหารชีวิต


          ทางด้านสุมาตรา เจ้าชายปรเมศวรแห่งแดนศรีวิชัยเดิม คิดตั้งตัวเป็นอิสระ แม้ว่ามัชปาหิตจะขับไล่เหล่าผู้ก่อขบถนั้นพ้นไป และตามไปกำจัดที่สิงคโปร์จนเสร็จ แต่เจ้าชายปรเมศวรก็ไม่ลดละหนีต่อไปตั้งตัวที่มะละกา และเข้าภิเษกสมรสกับพระธิดาเจ้าเมืองปาไซในเกาะสุมาตราที่นับถือศาสนาอิสลามแล้วเข้ารีตศาสนาอิสลามกลายเป็นสุลต่านอิสกันดาร์ซาห์ และได้เดินทางไปเฝ้าจักรพรรดิ์จีน เพื่อขอให้จีนช่วยเจรจาห้ามปรามกษัตริย์ไทย ทำการรุกราน มะละกา ซึ่งฝ่ายไทยถือว่า ดินแดนมะละกา อยู่ในความปกครองของไทยมาก่อน ซึ่งหลังจากพ่อขุนรามคำแหงสิ้นพระชนม์แล้ว กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มา ไม่สามารถ ดำรงความเป็น ผู้นำ ไว้ได้ พระบรมราชากษัตริย์แห่งรัฐละโว้ อโยธยา ทรงปฏิเสธต่ออำนาจอาณาจักรสุโขทัย ได้ตั้งอาณาจักรอยุทธยา ขึ้นมาใหม่และได้เข้ายึดครอง เมืองนครศรีธรรมราช ตลอดไปจนถึงหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนสุดปลายแหลมมลายู


ต่อมารัฐสุลต่านแห่งมะละกา ตามที่เล่าข้างต้น เมื่อปีค.ศ.๑๔๐๒-๑๔๐๓  จึงยกกองทัพมุสลิมกลับไปรุกรานมัชปาหิต เมื่อปี พ.ศ.2021 โอรสของกษัตริย์โบนัง ผู้เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของมัชปาหิต พร้อมด้วยเจ้านาย และบริวารได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในเกาะบาหลีเป็นที่มั้นสุดท้าย แต่ยังไม่หมดกำลังสิ้นเชิง โดยได้สกัดกั้นไม่ให้ศาสนาอิสลาม แผ่เข้าไปในเกาะนั้นได้สำเร็จ  กระทั่งถึงต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๖ อำนาจที่ยังเหลืออยู่บ้างนั้นจึงถูกกำจัดไปในราวปีค.ศ.๑๕๒๗   (  หมายเหตุ - ซึ่งภายหลังอาณาจักรมาตารามก็ได้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งในยุคเป็นแดนมุสลิมในกาลข้างหน้า หลังสิ้นมาตารามเก่าไป ๕๐๐ กว่าปี  )




( ขอกล่าวถึงเกาะบาหลีในปัจจุบันอย่างคร่าว ๆ  ชื่อ “  บาหลี “ คือ พลี ที่แปลว่า มีกำลังแข็งแรง อยู่ห่างไปทางตะวันออกของเกาะชวา โดยข้ามช่องแคบเพียงประมาณ ๒ กิโลเมตร และบาหลีเป็นถิ่นแดนเดียวในอินโดนีเซียปัจจุบัน ที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นฮินดูแบบบาหลี (Balinese Hinduism)  มีพุทธศาสนาแทรกเสริม ผสมผสานกับลัทธินับถือบรรพบุรุษผีสางและไสยเวท ถือระบบวรรณะของฮินดู แม้จะหย่อนกว่าในอินเดีย ชาวบาหลีส่วนใหญ่ราว ๙ ใน ๑๐ คนเป็นคนวรรณะศูทร  )


       มัชปาหิตจึงเป็นอาณาจักรฮินดูแห่งสุดท้ายในหมู่เกาะมาเลย์   หลังจากนี้ไปก็ไม่มีอาณาจักรใดในอินโดนีเซียตั้งอาณาจักรขึ้นมาได้อีก อีกทั้งชาติตะวันตก ก็ค่อย ๆ ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาจับจองแสวงหาผลประโยชน์และขยายอำนาจในดินแดนแห่งนี้ โดยเนเธอร์แลนด์ก็เข้ารุกราน และอินโดนีเซียต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์อยู่ประมาณ 301 ปี 
                   

                      


ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกอินโดนีเซีย และทำการขับไล่เนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซียออกไปได้สำเร็จ จึงทำให้ผู้นำอินโดนีเซียคนสำคัญในสมัยนั้นให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นแต่ไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับญี่ปุ่นมากนัก เพราะมีเหตุเคลือบแคลงคือ เมื่อผู้รักชาติอินโดนีเซียจัดตั้งขบวนการต่างๆขึ้นมา ญี่ปุ่นจะขอเข้าร่วมควบคุมและดำเนินงานด้วย




          เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายพันธมิตร อินโดนีเซียได้ถือโอกาสประกาศเอกราชใน พ.ศ. 2488 แต่เนเธอร์แลนด์เจ้าของอาณานิคมเดิมไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย จึงยกกองทัพเข้าปราบปราม ผลจากการสู้รบปรากฏว่าเนเธอร์แลนด์ไม่สามารถปราบปรามกองทัพอินโดนีเซียได้ จากนั้นอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรกับเนเธอร์แลนด์จึงเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้ยุติความขัดแย้งกัน โดยให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงลิงกัดยาติ (Linggadjati Agreement) เมื่อพ.ศ. 2489 โดยเนเธอร์แลนด์ยอมรับอำนาจรัฐของรัฐบาลอินโดนีเซียในเกาะชวาและสุมาตรา


                    

          ต่อมาภายหลังเนเธอร์แลนด์ได้ละเมิดข้อตกลงโดยได้นำทหารเข้าโจมตีอินโดนีเซียทำให้ประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย และอินเดียได้ยื่นเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้าจัดการ สหประชาชาติได้เข้าระงับข้อพิพาทโดยตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย ออสเตรเลีย เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมและได้เรียกร้องให้หยุดยิง 


                    

แต่เนเธอร์แลนด์ได้เข้าจับกุมผู้นำคนสำคัญของอินโดนีเซีย คือ ซูการ์โนและฮัตตาไปกักขัง ต่อมาทหารอินโดนีเซียสามารถช่วยเหลือนำตัวผู้นำทั้งสองออกมาได้ ในระยะนี้ทุกประเทศทั่วโลกต่างตำหนิการกระทำของเนเธอร์แลนด์อย่างยิ่งและคณะมนตรีความมั่นคงได้กดดันให้เนเธอร์แลนด์มอบเอกราชแก่อินโดนีเซีย


                                                            


ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2492 อินโดนีเซียได้รับเอกราชแต่ความยุ่งยากยังคงมีอยู่เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ไม่ยินยอมให้รวมดินแดนอิเรียนตะวันตกเข้ากับอินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายจึงต่างเตรียมการจะสู้รบกันอีก ผลที่สุดเนเธอร์แลนด์ก็ยอมโอนอำนาจให้สหประชาชาติควบคุมดูแลอิเรียนตะวันตกและให้ชาวอิเรียนตะวันตกแสดงประชามติว่าจะรวมกับอินโดนีเซียหรือไม่ ผลการออกเสียงประชามติปรากฏว่าชาวอิเรียนตะวันตกส่วนใหญ่ต้องการรวมกับอินโดนีเซีย สหประชาชาติจึงโอนอิเรียนตะวันตกให้อยู่ในความปกครองของอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2506






อ่านต่อ " 3. เกาะสุมาตรา " ครับ...